“สารทดแทนความหวาน” หรือ “น้ำตาลเทียม” (Artificial Sweeteners) เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเติมรสชาติหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาลธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากจะให้พลังงานหรือแคลอรี่ต่ำ หรือในบางครั้งก็อาจไม่มีแคลอรี่เลย ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำตาลเทียม โดยมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ดังนี้
- แอสปาร์แตม (Aspartame) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 180-200 เท่า
- อะเซซัลเฟม-เค (Acesulfame-K) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า
- นีโอแทม (Neotame) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 600 เท่า
- แซคคาริน (Saccharin) หรือขัณฑสกร ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200-700 เท่า
- สตีเวีย (Stevia) หรือสารสกัดจากหญ้าหวาน ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 280 – 300 เท่า
- ซูคราโลส (Sucralose) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 600 เท่า
อย่างไรก็ตาม “แอสปาร์แตม” เป็นสารแทนความหวานที่มีรสชาติใกล้เคียงน้ำตาลทรายมากที่สุด จึงเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในอาหารและเครื่องดื่มประเภทแคลอรีต่ำหรือน้ำตาล 0%, ลูกอม, หมากฝรั่ง, ยาสีฟัน, ไอศกรีม, โยเกิร์ต, ซอส และขนมอีกหลากหลายชนิด
ในวันนี้ 14 กรกฎาคม 2566 สองหน่วยงานภายใต้สังกัดขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมของ WHO และองค์การอาหารและเกษตรว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหาร (JECFA) ประกาศอย่างเป็นทางการว่า แอสปาร์แตม ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้น เป็นสารที่ ‘มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง’ (group 2B Possibly carcinogenic to humans) กล่าวคือมีหลักฐานบ่งชี้ว่าก่อมะเร็งในมนุษย์ในระดับจำกัด แต่ไม่ได้ประเมินว่าจะเกิดความเสี่ยงนั้นต้องมีการบริโภคมากเพียงไร JECFA แนะนำให้บริโภคแอสปาร์แตมต่อวันให้อยู่ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่าง คนน้ำหนักตัว 60-70 กิโลกรัมจะต้องดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของแอสปาร์แตม 9-14 กระป๋องต่อวันจึงจะเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพนั่นเอง
โดยสรุปหลักฐานบ่งชี้ว่าแอสปาร์แตมก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ยังอยู่ในระดับจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม WHO ไม่แนะนำให้ใช้สารทดแทนความหวานเป็นวิธีการควบคุมน้ำหนักหรือลดความเสี่ยงของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases) และ แนะนำว่าการใช้สารทดแทนความหวานไม่ได้ช่วยควบคุมน้ำหนักในระยะยาวและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 โรคหัวใจและหลอดเลือดและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
อ่านเพิ่มเติมที่
https://www.iarc.who.int/wp-content/uploads/2023/07/Summary_of_findings_Aspartame.pdf
https://www.iarc.who.int/wp-content/uploads/2023/07/Aspartame_PR.pdf