แนวทางในการดูแลด้านต่อมไร้ท่อในชายหญิงข้ามเพศโดยสมาคมต่อมไร้ท่อของอเมริกาเป็นการอัพเดตจากแนวทางเดิมเมื่อปี 2009 หลักสำคัญของแนวทางมีดังนี้
- การรับรองกำหนดเพศสภาพต้องทำโดยทีมสหสาขาซึ่งอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อเป็นหนึ่งในทีมที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการด้านฮอร์โมนอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
- ทีมสหสาขาประกอบด้วยแพทย์ที่ดูแลการรักษาด้านต่อมไร้ท่อร่วมไปกับผู้ดูแลด้านสภาพจิตใจ เช่น จิตแพทย์ทั้งในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ซึ่งทีมงานเหล่านี้จำเป็นต้องมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในแต่ละขั้นตอนของการดูแลอย่างเหมาะสม
- การรักษาด้วยฮอร์โมนยังไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น โดยเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแนะนำให้เริ่มต้นรักษาในระยะ Tanner stage G2/B2 โดยกดด้วย GnRH agonists ต่อมาเมื่อมีการยืนยันรับรองกำหนดเพศสภาพจากทีมสหสาขาแล้วจึงพิจารณารักษาด้วยฮอร์โมนตามเพศสภาพซึ่งจะต้องมีวุฒิภาวะเพียงพอและให้การยินยอมในขั้นตอนนี้ก่อนเริ่มต้นรักษาด้วยฮอร์โมนตามเพศสภาพ ซึ่งวัยรุ่นส่วนใหญ่จะมีวัยวุฒิเพียงพอที่ 16 ปี แม้ในบางครั้งอาจมีเหตุผลบางประการที่จะให้การรักษาก่อนอายุ 16 ปีแต่ปัจจุบันยังมีข้อมูลผลการรักษาในผู้ที่มีอายุน้อยกว่านี้ไม่มากนัก
- ในการทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อดูแลชายหญิงข้ามเพศในช่วงวัยรุ่น แพทย์ต่อมไร้ท่อต้องยืนยันเกณฑ์วินิจฉัยจากจิตแพทย์และตัดสินใจร่วมกันในการพิจารณาเรื่องการผ่าตัด
- ในวัยผู้ใหญ่ แพทย์ผู้ดูแลควรมีความเชี่ยวชาญในการดูแลภาพรวมทั้งด้านการวินิจฉัย สุขภาพจิต การดูแลเรื่องทั่วไป การรักษาด้วยฮอร์โมนและการผ่าตัดขึ้นกับความต้องการของชายหญิงข้ามเพศ
- หลักการรักษาแนะนำให้คงระดับฮอร์โมนเพศตามเพศสภาพและเฝ้าระวังความเสี่ยงและโรคแทรกซ้อน ประเมินความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของอวัยวะเพศเดิมหากไม่ได้ผ่าตัดและผลข้างเคียงของฮอร์โมนที่ใช้
โดยรายละเอียดแนวทางปฏิบัตินี้ได้แบ่งคำแนะนำเป็น 5 หมวด ได้แก่
- การประเมินสำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่
- การรักษาในช่วงวัยรุ่น
- การรักษาด้วยฮอร์โมนในชายหญิงข้ามเพศวัยผู้ใหญ่
- การป้องกันภาวะไม่พึงประสงค์และผลการรักษาในระยะยาว
- การผ่าตัดเพื่อกำหนดและยืนยันเพศสภาพ
สามารถ download full text guideline ได้ที่ https://academic.oup.com/jcem/article-lookup/doi/10.1210/jc.2017-01658