เบาหวานดิจิตอล (digital diabetes)

          เทคโนโลยีเกี่ยวกับการติดตามและการดูแลรักษาคนไข้ในปัจจุบันก้าวหน้าไปอย่างมาก ตามไปกับโลกของเราที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างรวดเร็ว ในแง่ของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 มีเทคโนโลยีหลายอย่างเข้ามาช่วย เทคโนโลยีใหม่ๆบางอย่างมีการศึกษาแล้วว่าช่วยลดระดับน้ำตาลสะสม และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดจากโรคเบาหวาน ได้แก่ การติดตามระดับน้ำตาลในเลือดแบบต่อเนื่อง (flash or continuous glucose monitor) แบบ real-time การติดตามความดันโลหิต เครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะที่สามารถติดตามน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย รวมไปถึงองค์ประกอบของไขมันในร่างกาย นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเท้าชาหรือเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง ยังมีถุงเท้าอัจฉริยะ (smart socks) ที่สามารถติดตามอุณหภูมิเพื่อดูว่าเกิดภาวะอักเสบของเท้าหรือเกิดแผลที่เท้าหรือไม่ เพื่อช่วยลดการสูญเสียหรือการต้องถูกตัดเท้า ในแง่ของโรคหัวใจมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติได้ โดยปัจจุบันเครื่องมีขนาดเล็กลงมาก สามารถพกพาได้ง่าย หรือแม้กระทั่งปัจจุบันทำออกมาในรูปของ smart watch ที่มีการติดตามภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ นอกเหนือจากนี้ยังตับอ่อนเทียม (artificial pancreas) ช่วยในการให้อินซูลินที่ปรับได้ตามการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ค่าที่ได้จากการวัดทั้งหมดนี้สามารถเชื่อมผ่านโปรแกรมหรือเก็บข้อมูลผ่านทาง application หรือ smart phone ได้โดยอาศัยการประมวลผลที่ดีผ่านทางปัญญาประดิษฐ์หรือที่เรียกว่า artificial intelligence (AI) เชื่อว่าอนาคตน่าจะมีสิ่งใหม่ๆที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย เช่น smart contact lens ที่สามารถติดตามระดับน้ำตาลที่เลนส์ตาได้ตลอดเวลา หรือ smart drugs ซึ่งจะเป็นยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยติดตามจากการรับประทานยาของผู้ป่วย การตอบสนองของร่างกายหลังจากได้ยา หรืออุณหภูมิของผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับขนาดยา

โดยสรุปการดูแลรักษาผู้ป่วยในอนาคตน่าจะเข้าสู่ยุคดิจิตอลเป็นหลัก ในแง่ของการรักษาโรคเบาหวานการใช้เทคโนโลยีทั้ง hardware และ software โดยอาศัยการทำงานของ AI เข้ามาช่วยน่าจะมีประโยชน์ต่อทั้งคนไข้และแพทย์ผู้รักษาเอง หรือเรียกว่า “digitosome” ดังภาพแสดง

  • Artificial intelligence and diabetes สามารถติดตามอาการผู้ป่วยทางไกล (telemedicine) ผ่านทาง application ได้ตลอดเวลา โดย AI อาจคิด solution และวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการดูแลรักษาคนไข้เฉพาะบุคคลโดยอาศัยข้อมูล เช่น lifestyle, genetics backgrounds และปัจจัยทางแวดล้อมต่างๆ ทำให้ลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ภาระของแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และอาจช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันและเรื้อรัง ไปจนลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วย
  • Social media and diabetes online communities ปัจจุบันสื่อในโลกโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษาอย่างมาก การสร้างชุมชนออนไลน์ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีประโยชน์ในแง่การแชร์ข้อมูล ความรู้สึก ความวิตกกังวล สร้างให้กำลังใจกันและกันสร้างแรงจูงใจต่อกันได้ รวมไปถึงการให้คำแนะนำกันเองระหว่างผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาตนเองได้ดี ทั้งหมดนี้มีข้อมูลแล้วว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้ ดังเช่นในต่างประเทศที่มีสังคมออนไลน์ใน twitter ผ่านทาง #t1d (เบาหวานชนิดที่ 1), #t2d (เบาหวานชนิดที่ 2) และ #doc (diabetes online community) เป็นต้น
  • Evolution of diabetes research การที่ผู้ป่วยหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้สะดวกในแง่ของการเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น การออกแบบการรับรองงานวิจัยต่างๆ รวมไปจนถึงขั้นเก็บข้อมูลขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า “big data” ในอนาคตจะสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น เรียกว่าได้เกิดเป็นระบาดวิทยาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-epidemiology) หากสร้าง AI ให้เหมาะสมจะทำได้ถึงขั้นวิเคราะห์ข้อมูลแบบ e-cohorts ได้จากการเลือกผู้ป่วยผ่านการตอบแบบสอบถามออนไลน์ (e-questionnaires) และเก็บข้อมูลสุขภาพผ่านทางออนไลน์ (e-health records) ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้ก็จะมีประโยชน์ย้อนกลับมาต่อคนไข้ ทั้งในแง่การดูแลรักษาหรือป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เพราะเป็นการเก็บรวบรวมมาจากคนกลุ่มที่ต้องการศึกษาโดยตรง

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทเข้ามาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยมากขึ้น อย่างไรก็ตามในประเทศไทยอาจต้องใช้ระยะเวลาอีก 5-10 ปีกว่าจะเข้าสู่ยุคเบาหวานดิจิตอล สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานคงไม่ใช่แค่เพียงคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมาย แต่น่าจะเป็นการกระตุ้นหรือโน้มน้าวให้ผู้ป่วยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์มากขึ้น เช่น การติดตามค่าระดับน้ำตาล ความดันโลหิต น้ำหนักตัว ผ่านทาง application เพื่อสะดวกและง่ายต่อแพทย์ผู้รักษา การสร้างชุมชนออนไลน์ รวมไปถึงการใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความตระหนัก มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาโรคด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S126236361830171X?via%3Dihub

Share on social media:
Facebook
Twitter
LinkedIn
Telegram

โพสที่เกี่ยวข้อง