การคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้เป็นเบาหวานบางราย ทั้งจากการปรับพฤติกรรมชีวิตอย่างเข้มงวดหรือจากการได้รับการรักษาด้วยวิธีต่างๆ โดยในบางรายสามารถคุมได้อย่างต่อเนื่องยาวนานแม้กระทั่งหลังการหยุดการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ซึ่งในยุคปัจจุบันด้วยแนวทางการรักษาใหม่ๆ อาจพบลักษณะการคุมน้ำตาลที่ดีอย่างยั่งยืนแบบนี้ได้บ่อยขึ้น แต่นิยามรวมทั้งเกณฑ์ในการกำหนดภาวะเบาหวานสงบนี้ที่ผ่านมายังไม่มีข้อสรุปชัดเจน และการติดตามผลลัพธ์ระยะยาวทั้งประโยชน์และโทษก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ สมาคมเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาจึงมีการจัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งกำหนดนิยามและหลักเกณฑ์เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดเป้าหมายและสนับสนุนแนวทางเวชปฏิบัติต่อไปในอนาคต
เดิมในปีพ.ศ.2552 สมาคมเบาหวานสหรัฐอเมริกาเคยออกแถลงการณ์ตามมติที่ประชุมเสนอคำว่า เบาหวานสงบ (diabetes remission) โดยมีการแบ่งเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ Partial remission ได้แก่ ผู้ที่ระดับน้ำตาลลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยเบาหวานอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปีโดยไม่ได้ใช้ยา Complete remission ได้แก่ ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติโดยไม่ใช้ยาเป็นเวลา 1 ปี Prolong remission ได้แก่ผู้ที่มีภาวะ complete remission ได้นานต่อเนื่องกันเกิน 5 ปีขึ้นไปโดยไม่ใช้ยา โดยใช้เกณฑ์ระดับ A1C <6.5% หรือ FPG 100-125 mg/dL สำหรับภาวะ partial remission และใช้เกณฑ์ A1C อยู่ในระดับปกติและ FPG <100 mg/dL สำหรับ complete remission
สมาคมเบาหวานสหรัฐอเมริกาจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติจากหลากหลายสหสาขาวิขาโดยมีตัวแทนจาก American Diabetes Association, European Association for the Study of Diabetes, Diabetes UK, the Endocrine Society, the Diabetes Surgery Summit และเพื่อให้ได้มุมมองที่รอบด้านยังมีการเชิญแพทย์สาขามะเร็งวิทยาร่วมด้วย การประชุมเกิดขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563 และมีแถลงการณ์มติที่ประชุมออกมาในหลายเรื่อง ได้แก่
นิยามเรียกที่เหมาะสมมีการพิจารณาหลายคำที่เหมาะสม เช่น resolution, reversal, remission, cure มติที่ประชุมสรุปเลือกใช้คำว่าเบาหวานสงบหรือ diabetes remission เป็นคำเรียกที่เหมาะสมที่สุด เพราะคำนี้สื่อให้เห็นว่าเบาหวานไม่ได้เป็นโรคที่ก้าวหน้าเสมอไปและก็สื่อว่าภาวะที่ดีขึ้นนั้นอาจไม่คงอยู่ถาวรด้วยเช่นเดียวกัน การใช้คำว่าหายจากเบาหวานอาจเป็นปัญหาเนื่องจากอาจทำให้เข้าใจไปว่าภาวะนี้หายแล้วไม่ต้องการการติดตามหรือการดูแลอีกต่อไป มติที่ประชุมจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้คำนี้ในบริบทของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การกำหนดเกณฑ์ใหม่สำหรับใช้นิยามภาวะเบาหวานสงบที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้ A1C ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยเบาหวานคือ 6.5% ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนโดยไม่ได้ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือด โดยวิธีการตรวจ A1C ต้องมีมาตรฐานตามที่สากลกำหนด และต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการตรวจ A1C ด้วย ในกรณีที่ A1C ไม่สามารถเชื่อถือได้อาจเลือกใช้การตรวจ 24-h mean glucose จากเครื่อง CGM เป็นทางเลือกได้ ซึ่งค่านี้ได้มาจากการคำนวณแปลงระดับน้ำตาลเฉลี่ยจากเครื่อง CGM เดิมเรียกว่า estimated A1C (eA1C) หรือล่าสุดปรับเป็นคำว่า Glucose Management Indicator (GMI) ดังนั้นโดยสรุปมติที่ประชุมจึงกำหนดให้ใช้ A1C <6.5% ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับในสถานการณ์ทั่วไป และให้พิจารณาใช้ค่า eA1C หรือ GMI <6.5% เป็นทางเลือกในบางกรณีได้
การเปลี่ยนแปลงทางสรีระเมื่อเบาหวานสงบหลังจากการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ผลของการรักษาที่เคยได้รับแต่ละวิธีจะมีผลต่อร่างกายแตกต่างกัน การติดตามต่อเนื่องและการติดตามโรคแทรกซ้อนเบาหวานทั้งตา ไต เท้าและโรคหัวใจและหลอดเลือดยังคงต้องติดตามต่อเนื่องเพราะภาวะ metabolic memory ซึ่งหมายถึงผลเสียที่เกิดขึ้นต่อร่างกายอย่างต่อเนื่องยังคงอยู่ในผู้ที่เคยมีน้ำตาลสูงมาก่อน
สรุปผลจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญได้เสนอนิยามของภาวะเบาหวานสงบโดยกำหนดเกณฑ์ที่ระดับ A1C < 6.5% อย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือนหลังจากหยุดยาลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยแนะนำให้มีการติดตามลักษณะผู้เป็นเบาหวานอย่างต่อเนื่องรวมทั้งติดตามปัจจัยที่ส่งผลและผลลัพธ์ของภาวะเบาหวานสงบเพิ่มเติม
ผู้สนใจสามารถเข้าไป download fulltext ได้ฟรีตามลิงค์ https://care.diabetesjournals.org/content/early/2021/08/17/dci21-0034