แนวทางจัดการน้ำตาลแบบผู้ป่วยนอกในผู้เป็นมะเร็ง
ผู้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นหลายอวัยวะ และผู้เป็นมะเร็งก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ร้อยละ 20 ของผู้เป็นมะเร็งพบว่ามีโรคเบาหวานร่วมด้วยตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีทั้งโรคเบาหวานและโรคมะเร็งอาจเพิ่มความเสี่ยงหลายประการ เช่น toxicities, hospital admission and morbidity และภาวะน้ำตาลในเลือดสูงยังอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของเคมีบำบัดเพราะอาจทำให้ต้องมีการลดขนาดยาลงหรือหยุดยาเร็วกว่ากำหนด จากการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นตัวพยากรณ์โรคที่ไม่ดีทั้งในด้านการรอดชีวิตและความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกลับเป็นซ้ำ ปัจจุบันโรคมะเร็งก็เป็นหนึ่งในสาเหตุการตายที่สำคัญในผู้ที่เป็นเบาหวาน แนวทางเวชปฏิบัติของอังกฤษนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการผู้เป็นเบาหวานที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านมะเร็งหรือสเตียรอยด์ รวมทั้งค้นหาผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดเบาหวานในผู้ที่ไม่เคยวินิจฉัยเบาหวานมาก่อนด้วย โดยเน้นที่การจัดการที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอกโรคมะเร็งและโรคเลือดให้มีการจัดการน้ำตาลที่เหมาะสม
แนวทางนี้พัฒนาเป็นแบบสหสาขาวิชาชีพโดยความร่วมมือระหว่าง UK Chemotherapy Board (UKCB) และ Joint British Diabetes Society for Inpatient Care (JBDS)
ยาเคมีบำบัดหลายกลุ่มล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงต่อเบาหวานหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทั้งสิ้น เช่น
- กลุ่ม Targeted therapy ได้แก่ mTOR inhibitors, PI3K inhibitors, ALK inhibitor, FLT3 inhibitor, EGFR inhibitor, Tyrosine kinase inhibitor, Monocloncal antibody หรืออาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดทั้งสูงหรือต่ำได้ เช่น Multikinase inhibitor, Somatostatin analogues
- กลุ่ม Chemotherapy เช่น Alkylating agents, Anti-metabolite, Anthracyclines, Platinum based หรือกลุ่มอื่นๆ เช่น Arsenic trioxide
- กลุ่ม Immune Checkpoint Inhibitors (ICPs) เช่น PD-1, CTLA-4
- กลุ่ม Hormone therapy เช่น ADT, Tamoxifen
แนวทางแนะนำให้ผู้เป็นมะเร็งทุกรายตรวจ A1C และ random plasma glucose ที่แผนกผู้ป่วยนอกเพื่อเป็น baseline ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาต้านมะเร็ง และแบ่งการจัดการดังนี้
1.ผู้ที่ไม่เคยวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานมาก่อน แยกเป็นกลุ่มที่จะได้รับการรักษาด้วยสเตียรอยด์หรือยาเคมีบำบัด กับ กลุ่มที่จะได้รับการรักษาด้วย immune checkpoint inhibitors ซึ่งอาจมาด้วยน้ำตาลสูงอย่างฉับพลันหรือเกิดภาวะ ketoacidosis ได้
2.ผู้ที่มีโรคเบาหวานอยู่เดิม แบ่งคำแนะนำตามกลุ่ม ได้แก่ การจัดการก่อนให้สเตียรอยด์หรือยาเคมีบำบัด จัดกลุ่มแนะนำแยกเป็นผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยอินซูลินกับผู้ที่ไม่ได้รักษาด้วยอินซูลิน รวมทั้งแนะนำการจัดการปัญหาเรื่องคลื่นไส้อาเจียนด้วย
เป้าหมายในการคุมน้ำตาลคือ 6-10 mmol/L (108-180 mg/dL) หรือในรายที่เป็น end-of-life care ก็แนะนำไม่ให้น้ำตาลต่ำกว่า 6 mmol/L (108 mg/dL) และไม่สุงกว่า 15 mmol/L (270 mg/dL)
นอกจากนั้น แนวทางยังแนะนำการตรวจติดตาระดับน้ำตาล การจัดการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การเตรียมตัวเมื่อต้องเข้ารับการตรวจทางรังสีวิทยา คำแนะนำเรื่องอาหาร และการดูแลในระยะ end-of-life ด้วย
ผู้สนใจสามารถเข้าไป download fulltext ได้ฟรีตามลิงค์ https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/dme.14636