งานวิจัยนี้เป็นจากการศึกษาผลของการใช้ proton pump inhibitors (PPIs) ในผู้ป่วยโรคเบาหวานว่ามีผลต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease, CKD) หรือไม่ โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยชาวไต้หวัน ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานตั้งแต่ปี 2002 ถึงปี 2013 ที่ยังไม่มี CKD จากฐานข้อมูลของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน กลุ่มศึกษาที่ได้รับยา PPIs จะต้องใช้ยามากกว่า 180 defined daily dose (DDD) ต่อปี เช่น ได้รับยา omeprazole 20 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งหมด 180 วันต่อปีขึ้นไป และใช้ยาหลังจากวินิจฉัยโรคเบาหวานไปแล้ว เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ใช้ยา PPIs หรือได้รับยาไม่ถึง 180 DDD โดยเปรียบเทียบเป็น 1:4 ตามแผนภาพ
ลักษณะของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มแสดงดังตารางที่ 1 โดยในกลุ่มที่ใช้ยา PPIs มีแนวโน้มเกิด anemia มากกว่า และใช้ยาลดความดันโลหิต ยา NSAIDs และยาลดน้ำตาลมากกว่ากลุ่มควบคุม
งานวิจัยนี้ใช้สถิติวิเคราะห์แบบ multivariate cox proportional model hazard ratios พบว่ากลุ่มที่ได้รับยา PPIs เพิ่มความเสี่ยงของการเกิด CKD ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1.52 เท่า (p<0.001) เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา PPIs (ตารางที่ 2)
เมื่อพิจารณาชนิดของยา PPIs พบว่ายา lansoprazole มีโอกาสเกิดสูงสุดอยู่ที่ 1.49 เท่า (p<0.001) ตามด้วย rabeprazole 1.48 เท่า (p=0.005) pantoprazole 1.40 เท่า (p=0.005) สำหรับ omeprazole เกิด 1.12 เท่า แต่ค่า p-value ไม่ significant (95% CI; 0.64-1.98, p=0.687) ดังรูป
ผลการศึกษาจากงานวิจัยนี้ให้ผลคล้ายกับการศึกษาก่อนหน้านี้ว่าเพิ่มความเสี่ยงของ CKD ในผู้ป่วยโรคเบาหวานเช่นเดียวกัน ซึ่งสมมติฐานว่ากลไกการเกิดโรคน่าจะเกิดจาก acute interstitial nephritis และ acute kidney injury เนื่องจากยา omeprazole มีค่าครึ่งชีวิต (half-life) ที่สั้นกว่ายา PPIs ตัวอื่น จึงอาจจะอธิบายได้ว่าทำไมผลจึงออกมาต่างกับ PPIs ตัวอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ก็ยังมีข้อจำกัดหลายข้อ ได้แก่ วิธีศึกษาวิจัยไม่ได้เป็น randomized control trial (RCT) และฐานข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาวิจัยไม่มีค่า creatinine และค่า HbA1c แต่อาศัยการวินิจฉัย CKD จากทีมที่ดูแลรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ยังไม่ได้นับรวมผู้ป่วยที่ซื้อยา PPIs มารับประทานเอง
ยากลุ่ม PPIs เป็นกลุ่มยาลดกรดในกระเพาะอาหาร นับว่าเป็นยาที่ใช้กันเยอะมากและหาซื้อได้ง่าย ปัจจุบันมีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงอื่น ๆ จากการใช้ยาระยะยาว เช่น bone fracture, dementia, clostridium difficile infection แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็น observational study ที่มี low และ very low evidence แต่การใช้ยาให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นหากไม่มีข้อบ่งชี้ของการใช้ยา PPIs ควรแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดใช้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดตามมาได้